วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

แนะนำบล็อกที่รวบรวมผลงานหนังสือนิทานอีบุ้ค (e-book)

ขอแนะนำบล็อกที่รวบรวมผลงานหนังสือนิทานอีบุ้ค (e-book) หรือหนังสือนิทานอิเล็กทรอนิกส์ ผลงานทั้งหมดจัดทำขึ้นโดยนักศึกษาที่เรียนในรายวิชา นวัตกรรมและเทคโนโลยีสานสนเทศเพื่อการศึกษา สอนโดย อาจารย์อัจฉริยะ วะทา โดยบล็อกนี้มีชื่อว่า atinno.blogspot.com
มีหนังสือนิทานอีบุ้คที่เป็นฝีมือของนักศึกษาในหลายๆ สาขา หลายเรื่องน่าอ่านและสามารถโหลดเก็บไว้หรือนำไปสอนได้ด้วย 

อย่าลืมนะค่ะ เป็นเว็บที่อยากจะแนะนำ เหมาะสำหรับผู้ที่อยากจะทำหนังสือแบบทำมือและทำเป็นอีบุ้ค (e-book)


โครงการเรียนรู้จากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
ณ บ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช

แหล่งเรียนรู้ชุมชน ครอบครัวปู่ทวดครูสิงห์ สืบสานเจตนารมย์บรรพบุรษจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียน สอนพิเศษให้กับนักเรียนในชุมชน
     
      แหล่งเรียนรู้รู้ชุมชนหรือบ้านหลังเรียนของหลวงปู่ทวดครูสิงห์ ซึ่งเป็นสถานทีบ้านหลังเล็กเปรียบเหมือนสถานศึกษาศิษย์ที่บุตรและธิดาได้สืบสานอุดมการณ์ต่อจากวิถีคิดของพ่อกับแม่ว่า ต้องการสร้างโรงเรียนให้การศึกษาแก่บุตรหลานในชุมชนตนเอง ที่บ้านกุดแคนหมู่ 6 ตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ครอบครัวปู่ทวดครูสิงห์และแม่สง่า ฤทธิเดช ได้ร่วมกันจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์แม่สง่า ฤทธิเดช เปิดสอนพิเศษให้กับนักเรียนในชุมชนตำบลหนองโน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยเปิดทำการสอนให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 80 คน จาก 12 หมู่บ้าน เปิดเรียนวันเสาร์ และวันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.30 น.-12.30น.โดย โดยห้องเรียนใช้บริเวณห้องโถงข้างบ้าน และสวนหลังบ้านใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ

 โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสารสนเทศเพื่อการศึกษา

สามารถดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการคลิกที่นี่

โครงการเรียนรู้เชิงวิชาการจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
 ณ. “แหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์”

 โครงการบ้านหลังเรียน “แหล่งเรียนรู้ชุมชนบ้านหลังเรียนปู่ทวดครูสิงห์” บ้านกุดแคน ต.หนองโน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของ “ปู่ทวดครูสิงห์ ฤทธิเดช” อดีตครูประชาบาลที่มีความต้องการสร้างโรงเรียนให้ชุมชน และเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนไปทำกิจกรรมเสี่ยง ด้วยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อกันเด็กและเยาวชนไม่ให้หลงทางเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในสังคม ให้หันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ภายใต้แนวคิดเด็กนำผู้ใหญ่หนุนโดยมีดร.ประสพสุข ฤทธิเดช หรือ “อาจารย์ป้าต๋อย” ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานแหล่งเรียนรู้ชุมชนฯ สามารถดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการคลิกที่นี่
นิทานเรื่อง แดงเล็กหลงทาง แต่งโดย นางสาวปริยากร ไชยสง รหัสนักศึกษา 533410010317 จำนวน 12 หน้า 1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
สามารถดาวน์โหลดได้ที่คลิกที่นี่

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง





            การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง 


1. ความหมายของบทร้อยกรอง 
บทร้อยกรอง หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์โดยมีกำหนดข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความครึกครื้น และมีความไพเราะแตกต่างไปจากถ้อยคำธรรมดา ในการอ่านบทร้อยกรองนั้น เราเรียนกว่า “การอ่านทำนองเสนาะ”

2. ความหมายของ “การอ่านทำนองเสนาะ” 
การอ่านทำนองเสนาะคือ วิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะตามลีลาของบทร้อยกรองประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน

( พจนานุกกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หน้า 528 )

บางคนให้ความหมายว่า การอ่านทำนองเสนาะ คือ การอ่านตามทำนอง ( ทำนอง = ระบบเสียงสูงต่ำ ซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) เพื่อให้เกิดความเสนาะ ( เสนาะ , น่าฟัง , เพราะ , วังเวงใจ )

3. วัตถุประสงค์ในการอ่านทำนองเสนาะ 
การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านให้คนอื่นฟัง ฉะนั้นทำนองเสนาะต้องอ่านออกเสียง เสียงทำให้เกิดความรู้สึก – ทำให้เห็นความงาม – เห็นความไพเราะ – เห็นภาพพจน์ ผู้ฟังสัมผัสด้วยเสียงจึงจะเข้าถึงรสและความงามของบทร้อยกรองที่เรียนกว่า อ่านแล้วฟังพริ้งเราะเสนาะโสต การอ่านทำนองเสนาะจึงมุ่งให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรอง

4. ที่มาของการอ่านทำนองเสนาะ 
เข้าใจว่า การอ่านทำนองเสนาะมีมานานแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เท่าที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พุทธศักราช 1835 หลักที่ หนึ่ง บรรทัดที่ 18 – 20 ดังความว่า “…ด้วยเสียงพาดเสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่นใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน…” จากข้อความดังกล่าว ฉันทิชย์ กระเสสินธุ์ กล่าวว่า เสียงเลื้อน เสียงขับ คือการ้องเป็นทำนองเสนาะ ส่วน ทองสืบ ศุภะมารค ชี้แจงว่า เลื้อนตรงกับภาษาไทยถิ่นว่า “เลิ่น” หมายถึง การอ่านหนังสือเอื้อนเสียงเป็นทำนอง ซึ่งคล้ายกับที่ ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า “เลื้อน” เป็นคำภาษาถิ่นแปลว่า อ่านทำนองเสนาะ โดยอ้างถึง บรรจบ พันธุเมธา กล่าวว่า คำนี้เป็นภาษาถิ่นของไทยในพม่า ถือไทยในรัฐฉานหรือไทยใหญ่นั่นเอง จากความคิดเห็นของผู้รู้ประกอบกับหลักฐานในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงดังกล่าว ทำให้เชื่อกันว่าการอ่านทำนองเสนาะของไทยมีมานานหลายร้อยปีแล้ว โดยเรียกเป็นภาษาไทยถิ่นว่า “เลื้อน”

ที่มาหรือต้นเค้าของการอ่านทำนองเสนาะพอจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีบ่อเกิดจากการดเนินวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน ที่มีความเกี่ยวกันกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ ตลอดมา ทั้งนี้จากเหตุผลที่ว่า คนไทยมีนิสัยชอบพูดคำคล้องจองให้มีจังหวะด้วยลักษณะสัมผัสเสมอ ประกอบกับคำภาษาไทยที่มีวรรณยุกต์กำกับจึงทำให้คำมีระดับเสียงสูงต่ำเหมือนดนตรี เมื่อประดิษฐ์ทำนองง่าย ๆ ใส่เข้าไปก็ทำให้สามารถสร้างบทเพลงร้องขึ้นมาได้แล้ว ดังนั้นคนไทยจึงมีโอกาสได้ฟังและชื่นชมกับการร้องเพลงทำนองต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตายทีเดียว

ศิลปะการอ่านทำนองเสนาะขึ้นอยู่กับคามสามารถของผู้อ่าน และความไพเราะของบทประพันธ์แต่ละประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้อ่านทำนองเสนาะจึงต้องศึกษาวิธีการอ่านให้ไพเราะและต้องหมั่นฝึกฝนการอ่านจนเกิดความชำนาญ

อนึ่งศิลปะการอ่านทำนองเสนาะอยู่ที่ตัวผู้อ่านต้องรู้จัก วิธีการอ่านทอดเสียง โดยผ่อนจังหวะให้ช้าลง การเอื้อนเสียง โดยการลากเสียงช้า ๆ เพื่อให้เข้าจังหวะและให้หางเสียงให้ไพเราะ การครั่นเสียง โดยทำเสียงสะดุดสะเทือนเพื่อความไพเราะเหมาะสมกับบทกวีบางตอน การหลบเสียง โดยการหักเสียงให้พลิกกลับจากเสียงสูงลงมาเป็นเสียงต่ำ หรือจากเสียงต่ำขึ้นไปเป็นเสียงสูง เนื่องจากผู้อ่านไม่สามารถที่จะดำเนินตามทำนองต่อไปได้ เป็นการหลบหนีจากเสียงที่เกินความสามารถ จึงต้องหักทำนองพลิกกลับเข้ามาดำเนินทำนองในเขตเสียงของตน และการกระแทกเสียงโดยการอ่านกระชากเสียงให้ดังผิดปกติในโอกาสที่แสดงความโกรธหรือความไม่พอใจหรือเมื่อต้องการเน้นเสียง

(มนตรี ตราโมท 2527 : 50 )

5. รสที่ใช้ในการอ่านทำนองเสนาะ 
1.1 รสถ้อย ( คำพูด ) แต่ละคำมีรสในคำของตัวเอง ผู้อ่านจะต้องอ่านให้เกิดรสถ้อย

ตัวอย่าง

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม ดังดูดดื่มบอระเพ็ดที่เข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์ ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

(พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ)

1.2 รสความ ( เรื่องราวที่อ่าน ) ข้อความที่อ่านมีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เช่น โศกเศร้า สนุกสนาน ตื่นเต้น โกรธ รัก เวลาอ่านต้องอ่านให้มีลีลาไปตามลักษณะของเนื้อเรื่องนั้น ๆ

ตัวอย่าง : บทโศกตอนที่นางวันทองไปส่งพลายงามให้ไปหาย่าทองประศรีที่สุพรรณบุรี

ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญาณ์ โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง

(เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม : สุนทรภู่ )

ตัวอย่าง : บทสนุกสนาน ในนิราศพระบาทขณะมีมวยปล้ำ

ละครหยุดอุตลุดด้วยมวลปล้ำ ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน ตั้งประจันจดจับขยับมือ
ตีเข้าปับรับโปกสองมือปิด ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ คนดูอ้อเออกันสนั่นอึง

(นิราศพระบาท : สุนทรภู่ )

1.3 รสทำนอง ( ระบบเสียงสูงต่ำซึ่งมีจังหวะสั้นยาว ) ในบทร้อยกรองไทยจะประกอบด้วยทำนองต่าง ๆ เช่น ทำนองโคลง ทำนองฉันท์ ทำนองกาพย์ ทำนองกลอน และทำนองร่าย เป็นต้น ผู้อ่านจะต้องอ่านให้ถูกต้องตามทำนองของร้อยกรองนั้น เช่น โคลงสี่สุภาพ

สัตว์ พวกหนึ่งนี้ชื่อ พหุบา ทาแฮ
มี เอนกสมญา ยอกย้อน
เท้า เกิดยิ่งจัตวา ควรนับ เขานอ
มาก จวบหมิ่นแสนซ้อน สุดพ้นประมาณฯ

( สัตวาภิธาน : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยากูร )

1.4 รสคล้องจอง ในบทร้อยกรองต้องมีคำคล้องจอง ในคำคล้องจองนั้นต้องให้ออกเสียงต่อเนื่องกันโดยเน้นสัมผักนอกเป็นสำคัญ เช่น

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ พระสรรเพชรโพริญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน

(นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)

1.5 รสภาพ เสียงทำให้เกิดภาพ ในแต่ละคำจะแฝงไปด้วยภาพ ในการอ่านให้เห็นภาพต้องใช้เสียง สูง – ต่ำ ดัง - ค่อย แล้วแต่จะให้เกิดภาพอย่างไร เช่น

“มดเอ๋ยมดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
“สุพรรณหงส์ทรงพูดห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์”
“อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา”

6. หลักการอ่านทำนองเสนาะ มีดังนี้ 
1. ก่อนอ่านทำนองเสนาะให้แบ่งคำแบ่งวรรคให้ถูกต้องตามหลักคำประพันธ์เสียก่อนโดยต้องระวังในเรื่องความหมายของคำด้วย เพราะคำบางคำอ่านแยกคำกันไม่ได้ เช่น

“สร้อยคอขนมยุระ ยูงงาม”
(ขน-มยุระ , ขนม-ยุระ)

“หวนห่วงม่วงหมอนทอง อีกอกร่องรสโอชา
(อีก-อก-ร่อง , อี-กอ-กร่อง)

“ดุเหว่าจับเต่าร้างร้อง เหมือนจากห้องมาหยารัศมี”
(จับ-เต่า-ร้าง , จับ-เต่า )

“แรงเหมือนมดอดเหมือนกา กล้าเหมือนหญิง”
(เหมือน-มด , เหมือน-มด-อด )

2. อ่านออกเสียงตามธรรมดาให้คล่องก่อน

3. อ่านให้ชัดเจน โดยเฉพาะออกเสียง ร ล และคำควบกล้ำให้ถูกต้อง เช่น

“เกิดเป็นชายชาตรีอย่าขี้ขลาด บรรยากาศปลอดโปร่งโล่งสมอง
หยิบน้ำปลาตราสับปะรดให้ทดลอง ไหนเล่าน้องครีมนวดหน้าทาให้ที
เนื้อนั้นมีโปรตีนกินเข้าไว้ คนเคราะห์ร้ายคลุ้มคลั่งเรื่องหนังผี
ใช้น้ำคลองกรองเสียก่อนจึงจะดี เห็นมาลีคลี่บานหน้าบ้านเอย”

4. อ่านให้เอื้อสัมผัส เรียกว่า คำแปรเสียง เพื่อให้เกิดเสีงสัมผัสที่ไพเราะ เช่น

พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา
( อ่านว่า พระ-สะ-หมุด-สุด-ลึก-ล้น คน-นะ-นา )

ข้าขอเคารพอภิวาท ในพระบาทบพิตรอดิสร
( อ่านว่า ข้า-ขอ-เคา-รบ-อบ-พิ-วาด ใน-พระ-บาด-บอ-พิด-อะ-ดิด-สอน )

ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ
( อ่านว่า ขอ-สม-หวัง-ตั้ง-ประ-โหยด-โพด-ทิ-ยาน )

5. ระวัง 3 ต อย่าให้ตกหล่น อย่าต่อเติม และอย่าตู่ตัว

6. อ่านให้ถูกจังหวะ คำประพันธ์แต่ละประเภทมีจังหวะแตกต่างกัน ต้องอ่านให้ถูกวรรคตอนตามแบบแผนของคำประพันธ์นั้น ๆ เช่น มุทิงคนาฉันท์ ( 2-2-3 )

“ป๊ะโทน / ป๊ะโทน / ป๊ะโท่นโท่น       บุรุษ / สิโอน / สะเอวไหว
อนงค์ / นำเคลื่อน / เขยื้อนไป       สะบัด / สไบ / วิไลตา

7. อ่านให้ถูกทำนองของคำประพันธ์นั้น ๆ ( รสทำนอง )

8. ผู้อ่านต้องใส่อารมณ์ตามรสความของบทประพันธ์นั้น ๆ รสรัก โศก ตื่นเต้น ขบขัน โกรธ แล้วใส่น้ำเสียงให้สอดคล้องกับรสหรืออารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น

9. อ่านให้เสียงดัง ( พอที่จะได้ยินกันทั่วถึง ) ไม่ใช่ตะโกน

10. ถ้าเป็นฉันท์ ต้องอ่านให้ถูกต้องตามบังคับของครุ - ลหุ ของฉันท์นั้น ๆ

ลหุ คือ คำที่ผสมด้วยสระเสียงสั้น และไม่มีตัวสะกด เช่น เตะ บุ และ เถอะ ผัวะ ยกเว้น ก็ บ่อ นอกจากนี้ถือเป็นคำครุ ( คะ-รุ ) ทั้งหมด
ลหุ ให้เครื่องหมาย ( ุ ) แทนในการเขียน
ครุ ใช้เครื่องหมาย ( ั ) แทนในการเขียน

ตัวอย่าง : วสันตดิลกฉันท์ 14 มีครุ - ลหุ ดังนี้


อ้าเพศก็เพศนุชอนงค์ อรองค์ก็บอบบาง
( อ่านว่า อ้า - เพด – ก้อ – เพด – นุ – ชะ – อะ – นง อะ – ระ – อง – ก้อ – บอบ – บาง )

ควรแต่ผดุงสิริสะอาง ศุภลักษณ์ประโลมใจ
( อ่านว่า ควน – แต่ – ผะ – ดุง – สิ – หริ – สะ – อาง สุ – พะ – ลัก – ประ – โลม – ใจ )

11. เวลาอ่านอย่าให้เสียงขาดเป็นช่วง ๆ ต้องให้เสียงติดต่อกันตลอด เช่น
“วันจันทร์ มีดารากร เป็นบริวาร เห็นสิ้นฟ้า ในป่าท่าธาร มาลีคลี่บาน ในก้านอรชร” เวลาจบให้ทอดเสียงช้า ๆ

7. ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านทำนองเสนาะ 
1.ช่วยให้ผู้ฟังเข้าถึงรสและเห็นความงามของบทร้อยกรองที่อ่าน
2.ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความไพเราะและเกิดความซาบซึ้ง ( อาการรู้สึกจับใจอย่างลึกซึ้ง )
3.ช่วยให้เกิดความสนุกสนาน ความเพลิดเพลิน
4.ช่วยให้จดจำบทร้อยกรองได้รวดเร็วและแม่นยำ
5.ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนอ่อนโยนและเยือกเย็น ( ประโยชน์โดยอ้อม )
6.ช่วยสืบทอดวัฒนธรรม ในการอ่านทำนองเสนาะไว้เป็นมรดกต่อไป

หนังสือจินดามณี

                                                                       




ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นการเรียนการสอนภาษาไทยคงมีลักษณะแบบเดี ยวกับสมัยสุโขทัย เพราะเหตุว่า ชาวไทยในอยุธยานั้นถึงแม้ว่า จะแยกตัวออกมาเป็นอิสระ สมัยพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893) นั้น หาได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของกลุ่มขึ้นมาใหม่ไม่ แต่ยังสืบทอดวัฒนธรรมไทยทางด้านภาษาและตัวอักษรไทยอาณาจักรสุโข ทัยทั้งสิ้น ดังปรากฏว่าจารึกลานเงินที่วัดส่องคบ (ประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3, กรุงเทพฯ , โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2508) หลักเมืองชัยนาทเก่า (จารึกหลักที่ 44,50 และ 51) เป็นจารึกที่มีอายุมากที่สุดพบอยู่ในบริเวณอาณาจักรอยุธยานั้น รูปร่างตัวอักษรมีลักษณะแบบเดียวกับอักษรไทยที่ใช้อยู่ในอาณาจั กรสุโขทัยสมัยพระยาลิไทยแสดงว่าประชาคมกรุงศรีอยุธยารับตัวอักษ รไทยสุโขทัยมาใช้ตั้งแต่เริ่มตั้งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหรือก่อ นหน้านั้นแล้ว
      ฉะนั้น แบบเรียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาคงใช้แบบสุโขทัยนั่นเอง และการจัดการเรียน การสอนคงจะสืบเนื่องแบบอย่างมาจากสุโขทัยเช่นกัน คือ สำนักเรียนวัดเป็นส่วนสำคัญในการเรียนทั่วไป และสำนักราชบัณฑิตก็จัดสอนหนังสือแก่เจ้าขุนมูลนาย
      ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวตะวันตกได้เริ่มเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ชาวตะวันตกบางกลุ่มได้มีเจตนาที่จะนำพระคริสตธรรมเข้ามาเผยแพร่ ในประชาคมอยุธยาด้วย พวกบาทหลวงได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักสำคัญ ๆ ในยุโรปมาเผยแพร่คริสตศาสนา ในบางรัชสมัยบาทหลวงได้รับการสนับสนุนในการสอนศาสนาแก่ประชาคมอ ยุธยาจากราชสำนักไทย ได้จัดตั้งสำนักสอนพระคริสตธรรมและค่อยพัฒนามาเป็นโรงเรียน คือ เริ่มสอนพระคริสตธรรมแก่เยาวชนไทยควบคุ่กับการสอนภาษาต่างประเท ศและภาษาไทยแก่เยาวชนไทย คณะบาทหลวงได้รับสิทธิเสรีในการจัดการสอนอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2199-2213) ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทราบรายละเอียดในการจัดการเรียนการสอนในสมัยน ั้นก็ตาม แต่ก็พออนุมานได้ว่า เด็นไทยจำนวนไม่น้อยที่สามารถเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสจนสามารถใช้ก ารได้อย่างดีและสามารถที่จะไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสไ ด้ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายราชทูตสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่มีพระย าโกษาธิบดีเป็นหัวหน้าคณะ ได้กล่าวฝากฝังนักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ที่กรุงปารีส ซึ่งได้ไปศึกษาพร้อมกับคณะราชทูตไทยในครั้งนั้น
      การที่สำนักหมอสอนศาสนาเริ่มมีบทบาทในการเรียนการสอนหนังสือมาก ขึ้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยในสม ัยสมเด็จพระนารายณ์อยู่ไม่น้อย ดังที่พยายามจัดทำแบบเรียนให้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการสอนหนังสือแก่เยาวชนไทย พระโหราธิบดีจึงได้แต่งแบบเรียนชื่อ "จินดามณี" นับว่าเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทยหนังสือแบบเรียนจินดามณีเล่มนี้คงใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยต่อ ๆ มาในสำนักราชบัณฑิตและสำนักเล่าเรียนวัดจนได้ศึกษาเล่าเรียนกัน อย่างกว้างขวาง


หนังสือแบบเรียนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

หนังสือจินดามณี เป็นหนังสือแบบเรียนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระโหราธิบดี กวีในสมัยพระนารายณ์มหาราช ได้เรียบเรียงไว้เป็นหนังสือตำราเรียนหนังสือไทย เนื้อหาของหนังสือว่าด้วย ระเบียบของภาษา สอนอักขรวิธีเบื้องต้น พร้อมอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ 

จินดามณีถูกใช้เป็นตำราเรียนจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาในสมัย ร .5 จินดามณีมีหลายฉบับ เช่น ฉบับโหราธิบดี ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ฉบับพระเจ้าบรมโกศ ฉบับหมอบรัดเล เป็นต้น 

จินดามณี ฉบับหมอบรัดเล เป็นหนังสือแบบเรียนที่ ดร . แดน บีช บรัดเล มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการพ ิมพ์ของไทย จัดพิมพ์เมื่อปี 2422 โดยคัดสรรมาจากตำราเรียนเก่าหลายเรื่องและสอดแทรกเนื้อหาสำคัญท ี่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยมาไว้ในเล่มเดียวกัน เช่น ประถม ก กา ว่าด้วยการใช้และสะกดตัวอักษร จินดามุนี ว่าด้วยการประพันธ์โคลง เช่น โคลงสุภาพ ประถมมาลา เป็นตำราสั่งสอนวิชาหนังสือภาษาไทยให้ถูกต้องตามแบบจินดามณี ปทานุกรม เป็นส่วนราชาศัพท์ ได้เพิ่ม ศัพท์กัมพูชา ศัพท์ชวา เป็นต้น

ประถมจินดามณี เล่ม 1, เล่ม 2

ระถมจินดามณี เล่ม 1 
      หนังสือประถมจินดามณี เล่ม 1 ก็คือ จินดามณีฉบับพระโหราธิบดีที่แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยอยุธยาตอนปลายนั่นเอง ประถมจินดามณี เล่ม 1 ยังคงใช้เป็นหนังสือแบบเรียนที่สำคัญของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ประถมจินดามณี เล่ม 2 
      พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงแต่งหนังสือประถมจินดามณี เล่ม 2 ขึ้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชปรารภให้แต่งเพื่อใช้สอนพระราชโอรส และหมู่ข้าราชบริพารรวมเวลาตั้งแต่ทรงพระราชปรารภ จนทรงนิพนธ์เสร็จ ราว 6 เดือนเศษ (ธนิต อยู่โพธิ์ 2502,124) กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงอธิบายว่า เป็นการแต่งซ้อนจินดามณีของเก่า จึงเติมชื่อให้เป็น “จินดามณี เล่ม 2”
      ลักษณะการแต่ง การแต่งใช้ทั้งฉันท์ กาพย์ ร่ายและโคลง มีความเรียงอธิบายเป็นร้อยแก้ว
      สาระสำคัญ เนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
             1. กฎเกณฑ์ทางอักขรวิธี กล่าวถึงสระ พยัญชนะ ไตรยางค์ การแจกลูกทุกตัว อักษร ทุกแม่ตัวสะกด และแจกอักษรกล้ำ แล้วผันวรรณยุกต์ตามอักษรทั้ง 3 หมู่ การใช้เครื่องหมาย การแผลงอักษร
             2. การแต่งร้อยกรอง ขึ้นต้นด้วยร่ายสุภาพ แล้วอธิบายหลักการแต่งร้อยกรอง

หลักการวิจารณ์วรรณกรรม



     หลักการวิจารณ์วรรณกรรม 

การวิจารณ์วรรณกรรมมีหลายแนวทาง ก็จะลองเอาที่เรียนมา (เล็กเชอร์ วิชาวรรณคดีทัศนา) มาพิมพ์ให้อ่านกันค่ะ เป็นแนวทางหนึ่ง
การวิจารณ์วรรณกรรม หมายถึง การให้คำติชม ให้คำตัดสินสิ่งที่เป็นศิลปะ (ในที่นี้คือวรรณกรรม งานเขียน)ว่ามีคุณค่าหรือขาดตกบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์วรรณกรรมเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คือมีระเบียบมีกฎเกณฑ์ไปตามกระบวนเหตุผล และความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการแปลกใหม่ การวิจารณ์เป็นการะบวนการการสื่อสาร ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นฝ่ายเดียว การวิจารณ์เป็นเสาหลักของวัฒนธรรมที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน คือต้องแลกเปลี่ยนกันนั่นแหละค่ะ
เครื่องมือในการวิจารณ์ เช่น
Aesthetic สุนทรียศาสตร์ คือศาสตร์แห่งการเรียนรู้ความงามศิลปะ วิเคราะห์ในแง่ความงามเป็นหลัก
literary theory ทฤษฎีวรรณคดี ศาสตร์ของการศึกษาว่าด้วยองค์ประกอบคุณสมบัติ และการประเมินค่า
การวิจารณ์วรรณกรรมมีหลายแนวทาง ทฤษฎีต่างๆมีเยอะบึ้ม เช่นใช้จิตวิทยาในการวิจารณ์วรรณกรรม กะสืบไปถึงคนเขียนเลย เรียกว่าจิตวิเคราะห์ ว่าเขาคิดยังไงถึงเขียนออกมาแบบนี้ นักเขียนบางคนใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องระบายความรู้สึกเก็บกดจากจิตใต้สำนึกก็มี
วิธีวิจารณ์วรรณกรรมมีสองวิธี คือ
1. Practicakl criticism เชิงปฏิบัติ เน้นวิเคราะห์องค์ประกอบงานเขียน ดูว่าข้อ 1-4 สัมพันธ์กับข้อ 5 หรือแก่นเรื่องหรือไม่
องค์ประกอบงานเขียนมีดังนี้ค่ะ
1.รูปแบบการประพันธ์ เช่น ร้อยแก้ว ร้อยกรอง นิยาย บทละคร
2.โครงเรื่อง การใช้กลวิธีเล่าเรื่องเช่นเล่าเรื่องที่เกิดทีหลัง แล้วย้อนกลับมาก่อนหน้า (flashback)
3. ตัวละคร เช่น
-แบนราบ (flat) พวกดีก็ดีหมด ชั่วก็ชั่วหมด
-ซับซ้อน (round) มีดีชั่วปะปน นิสัยเปลี่ยนตามเหตุการณ์ สมจริง เหมือนคนจริงๆ
-ตัวละครธรรมเนียมนิยม (stock) จำพวกเป็นแบบฉบับ นางอิจฉาต้องกรี๊ด อะไรประมาณนี้
4. ฉาก สภาพภูมิประเทศ สถานที่ อาชีพ ชีวิตประจำวันของตัวละคร เวลา ยุค ความสัมพันธ์ระหว่างฉากกับตัวละคร
5. แก่นเรื่อง เรื่องนี้คนอ่านจะสื่ออะไร เหมือนสกัดสมุนไพร คือต้องสกัดจากเนื้อเรื่องออกมา
2. Theoretical criticism เชิงทฤษฎี เน้นการประยุกต์วรรณกรรมกับทฤษฎี แนวคิดต่างๆ เช่น จิตวิเคราะห์ มาร์กซิสม์ วรรณกรรมหลังอณานิคม วรรณกรรมชายขอบ เพศสถานะ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ชีวประวัติผู้แต่ง ดูแก่นเรื่องโดยเฉพาะ การเปรียบเทียบ โดยเจาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
เช่น บทกวีเปิบข้าว (เปิบข้าวทุกคราวคำ ฯลฯ จิตร ภูมิศักดิ์) ประยุกต์กับแนวคิดมาร์กซิสม์ได้ แนวคิดนี้พูดถึงความเท่ากัน ชาวนากับชนชั้นกลาง แสดงการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวนา เป็นต้น
หลักการเขียนงานวิจารณ์
1.อ่านงานเขียนอย่างละเอียด
2.เข้าใจความหมายงานเขียน
3.วิเคราะห์ส่วนต่างๆของงานเขียนตามเชิงปฏิบัติ
4.เลือกประเด็นสำคัญ ไม่กว้างเกิน ข้อมูลเพียงพอ
5.ตั้งสมมติฐานในการตอบ
6.หาหลักฐานสนับสนุน
7.หาข้อสรุป

ย้ำอีกทีนะคะว่า นี่เป็นแนวทางหนึ่งในการวิจารณ์วรรณกรรม มีอีกหลายวิธี หลายแนวทาง ตรงนี้เอาเลกเชอร์ที่เรียนมาก็น่าจะเพียงพอต่อการตอบคำถามของน้องเฟิร์นที่ว่า วรรณกรรมเขาวิจารณ์กันอย่างไร ทั้งนี้ คนที่วิจารณ์ก็ต้องมีความคิดกว้างไกล มีมุมมองที่หลากหลายและเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จึงจะเป็นผู้วิจารณ์ที่ดี
ตั้งกระทู้ได้ยังหว่า งุบงิบงุบงิบ